วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

"มาลาลา ยูซาฟไซ" เด็กหญิงตัวเล็กๆ ผู้หาญสู้เพื่อเด็กๆ และสันติภาพ

การเดินทางของ "มาลาลา ยูซาฟไซ" จากเด็กนักเรียนหญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งในปากีสถาน สู่การเป็นผู้คว้ารางวัลโนเบล สาขาสันติภาพด้วยอายุน้อยที่สุด เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน จากการที่เธอเกือบต้องเสียชีวิตไปเพราะการออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิของเด็กผู้หญิงในบ้านเกิด 
malala
          ในปี 2555 ยูซาฟไซซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 15 ปี อยู่ระหว่างการเดินทางกลับบ้านในมิงโกรา เขตสวาท วัลเลย์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปากีสถาน แต่รถโรงเรียนของเธอถูกสกัดโดยกลุ่มติดอาวุธตาลีบัน และเธอถูกยิงเข้าที่ศีรษะ อาการเป็นตายเท่ากัน
          การโจมตีในครั้งนั้นเกิดขึ้นเพื่อเป็นการลงโทษเธอที่ออกมารณรงค์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่อายุได้เพียง 11 ขวบ เพื่อเรียกร้องสิทธิให้เด็กผู้หญิงได้ไปโรงเรียน ทั้งผ่านบล็อกส่วนตัวและทางสื่อต่างๆ เพื่อคัดค้านการห้ามผู้หญิงได้รับการศึกษา และมีการลอบวางระเบิดโรงเรียนของกลุ่มติดอาวุธ
          ยูซาฟไซที่ปัจจุบันอายุ 17 ปี และ "ไซอุดดิน" บิดาของเธอที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และนักเคลื่อนไหวเพื่อการศึกษา กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในปากีสถานจากการออกมารณรงค์ในเรื่องนี้  และไม่ยอมเลิกล้มความตั้งใจ แม้จะได้รับคำขู่จากลุ่มตาลีบันหลายครั้ง
          หลังจากที่โดนยิง ยูซาฟไซเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลท้องถิ่น ก่อนที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะจัดหาเครื่องบินพยาบาลนำตัวเธอไปรักษาต่อในอังกฤษ ซึ่งแพทย์ได้ใช้แผ่นไททาเนียมซ่อมแซมกะโหลกศีรษะ และเธอต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการได้ยิน
          เมื่อรักษาตัวจนอาการดีขึ้นอย่างน่าพอใจ ครอบครัวยูซาฟไซ ที่รวมถึงบิดา มารดา และน้องชายของเธออีก 2 คนต้องมาเริ่มชีวิตใหม่ของตัวเองในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ เพราะไม่สามารถเดินทางกลับบ้านเกิดได้ จากการที่ยังถูกกลุ่มตาลีบันข่มขู่เอาชีวิตอย่างต่อเนื่อง
          การรอดชีวิตมาได้อย่างที่เรียกได้ว่าเหมือนปาฏิหาริย์นั้น ยังทำให้สาวน้อยรายนี้ผงาดขึ้นมาจากการเป็นเหยื่อของความพยายามฆาตกรรม สู่การเป็นสัญลักษณ์ระดับโลกในด้านการประท้วงอย่างสันติ และการต่อสู้เพื่อให้เด็กๆ ทุกคนได้ไปโรงเรียน

          สาวน้อยที่บางคนเรียกขานว่าเป็น "เด็กผู้หญิงที่กล้าหาญที่สุดในโลก" รายนี้ บอกว่า เธอรู้สึกประหลาดใจอยู่บ้างกับโชคชะตาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่เธอยังยึดมั่นกับการต่อสู้ของเธออยู่

          "พวกคุณล้วนช่วยให้โลกตระหนักถึงเป้าหมายของหนู ตระหนักถึงสิ่งที่หนูทุ่มเททำลงไป ไม่มีอะไรสำคัญสำหรับตัวหนูมากไปกว่าเรื่องที่เด็กทุกคนจะได้รับสิทธิในการเรียนหนังสือ" ถ้อยแถลงที่ยูซาฟไซเคยพูดไว้ขณะขึ้นรับรางวัลรางวัลหนึ่ง
          ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ยูซาฟไซได้รับรางวัลมากมาย มีรูปของเธอแขวนอยู่ในแกลลอรีแสดงภาพเหมือนแห่งชาติของอังกฤษ และในวันเกิดปีที่ 16 ของเธอเมื่อเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว เธอก็ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เธอระบุว่า "ครู 1 คน หนังสือ 1 เล่ม ปากกา 1 ด้าม สามารถเปลี่ยนโลกได้"
          เมื่อปีที่แล้ว เธอยังได้ตีพิมพ์หนังสือบันทึกความทรงจำ "ฉันคือมาลาลา เด็กหญิงที่ยืนหยัดเพื่อการศึกษา และถูกตาลีบันยิง" บอกเล่าเรื่องราวอันน่าหวาดกลัวของการโดนทำร้ายในวันที่ 9 ต.ค.2555
          ในหนังสือเล่มนี้ เธอยังได้อธิบายชีวิตของตัวเองสมัยที่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบอันโหดร้ายของกลุ่มตาลีบันในเขตสวาท วัลเลย์ ช่วงกลางทศวรรษ 2000 พูดคุยถึงเรื่องความฝันที่จะลงเล่นการเมือง และบอกเล่าเกี่ยวกับอาการคิดถึงบ้าน และการที่ต้องดิ้นรนเพื่อปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ในอังกฤษ
          ยูซาฟไซเล่าเกี่ยวกับตัวเธอเองว่า ค่อนข้างเป็นเด็กนักเรียนที่กระตือรือร้น อยากสอบได้เป็นที่ 1 ของชั้น แต่ขณะเดียวกันเธอก็ยังเป็นเด็กวัยรุ่นทั่วๆ ไปที่เป็นแฟนเพลงของนักร้องเพลงป๊อปชื่อดังอย่าง จัสติน บีเบอร์ และชอบอ่านนิยายแวมไพร์โรแมนติกอย่าง "ทไวไลท์"
          อย่างไรก็ดี การที่เธอต้องผ่านอะไรมามากมาย ทำให้เธอดูเป็นคนแปลกๆ ในสายตาของเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเธอพูดคุยเกี่ยวกับเรื่้องภัยคุกคามจากตาลีบัน
          โลกตะวันตกต่างพากันชื่นชม ยูซาฟไซ ในความกล้าหาญของเธอ โดยคนดังที่เป็นแฟนคลับของเธอรวมถึง แองเจลินา โจลี ดาราสาวชื่อดังแห่งฮอลลีวูด ผู้บริจาคเงินให้กับ "กองทุนมาลาลา" ที่เธอและครอบครัวก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยสนับสนุนด้านการศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิงในปากีสถานและทั่วโลกด้วย 
          อย่างไรก็ดี เธอยอมรับว่าเธอไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบมากเท่าใดนักในบ้านเกิดของเธอที่ปากีสถาน เพราะเพื่อนร่วมชาติของเธอบางส่วนมองว่าเธอเป็นลูกน้องของชาติตะวันตก เธอยังปฏิเสธอย่างหนักแน่นถึงเสียงวิจารณ์บางกระแสที่บอกว่า บิดาเป็นผู้ผลักดันให้เธอออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องการศึกษา
          ยูซาฟไฟ บอกว่า ผู้คนในปากีสถานต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน แต่เธออยากให้ทุกคนรู้ว่าเธอไม่ได้ต้องการให้ใครมาสนับสนุนเธอ แต่ต้องการให้สนับสนุนเป้าหมายของเธอในเรื่องสันติภาพและการศึกษา
          "หนูคือมาลาลา แม้โลกของหนูจะเปลี่ยนไป แต่ตัวตนของหนูก็ยังเหมือนเดิม"
nobel
"ยูซาฟไซ-สัตยาธี"ร่วมคว้าโนเบลสันติภาพ
          คณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในนอร์เวย์ ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 10 ต.ค.57 มอบรางวัลให้กับ นางสาวมาลาลา ยูซาฟไซ เด็กหญิงชาวปากีสถานที่รณรงค์ด้านการศึกษาของเด็ก และ นายไกลาศ สัตยาธี นักเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในอินเดีย สำหรับความทุ่มเทในการต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กทุกคน และการหยุดยั้งการกดขี่ข่มเหงเด็กๆ
          คณะกรรมการยังย้ำให้เห็นถึงความสำคัญที่ชาวมุสลิม-ฮินดู และชาวปากีสถาน-อินเดีย จะร่วมมือกันในการรณรงค์เพื่อการศึกษาและการต่อสู้กับกลุ่มลัทธิสุดโต่ง
          นางสาวยูซาฟไซ ถูกกลุ่มตาลีบันที่ห้ามเด็กหญิงเรียนหนังสือ ดักยิงที่ศีรษะในปี 2555 แต่รอดชีวิตอย่างหวุดหิด และมุ่งมั่นรณรงค์ในเวทีโลกเพื่อส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงมีโอกาสด้านการศึกษา โดยการที่เธอเพิ่งมีอายุเพียง 17 ปีในขณะนี้ ทำให้เธอกลายเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุดด้วย 
          นายธอร์บเยิร์น ยัคแลนด์ ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัล ระบุว่า แม้ยังเป็นเยาวชน แต่ นางสาวยูซาฟไซ แสดงให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนสามารถมีส่วนพัฒนาชีวิตของตัวเองได้ และเธอทำภายใต้สถานการณ์เสี่ยงอันตรายที่สุด 
          สำหรับนายสัตยาธีนั้น นายยัคแลนด์ บอกว่า นักเคลื่อนไหวรายนี้เป็นผู้นำแถวหน้าในการต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก โดยจัดการประท้วงทั้งในอินเดียและส่วนอื่นๆ ของโลก
          ปีนี้มีรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลที่เป็นบุคคล 231 คน และองค์กร 47 แห่ง และเป็นอีกปีหนึ่งที่ไม่มีใครเป็นตัวเก็งโดดเด่นที่จะได้รับรางวัลอย่างแน่นอน โดยรายชื่อตัวเก็งมีอยู่หลากหลายกลุ่ม ไล่ตั้งแต่ สมเด็จพระสันตปาปา ฟรานซิส ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปีที่แล้ว และบริษัทรับพนันรายใหญ่หลายแห่งยกให้เขาเป็นตัวเก็งอันดับหนึ่ง ไปจนถึง นายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตลูกจ้างสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ ผู้เปิดโปงความลับของโครงการสอดแนมของรัฐบาลอเมริกันที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากร และคนทรยศขายชาติ
          นอกจากนี้ ยังมีหนังสือพิมพ์รายวัน โนวาย่า กาเซต้า ของรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อมวลชนอิสระไม่กี่แห่งในรัสเซีย และนักข่าวของหนังสือพิมพ์แห่งนี้ถูกฆาตกรรมหลายคนแล้ว รวมถึง นางอันนา โปลิตคอฟสกาย่า ที่ตีแผ่เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเชชเนีย หนังสือพิมพ์แห่งนี้มี นายมิคาอิล กอร์บอชอฟ อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตและอดีตเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นผู้ร่วมก่อตั้งในปี 2536
          สหภาพแรงงานยูจีทีที ของตูนิเซีย เป็นอีกหนึ่งผู้เข้าชิงรางวัลที่ได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย โดยสหภาพแรงงานแห่งนี้มีบทบาทสำคัญในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย หลังการประท้วงโค่นล้มผู้นำเผด็จการได้สำเร็จ จากการมีส่วนร่วมไกล่เกลี่ยในการเจรจาทางการเมืองที่นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ ประธานาธิบดีมอนเซฟ มาร์ซูกี ของตูนิเซีย ที่ได้รับเลือกตั้งหลังผู้นำเผด็จการ ซีน เอล อาบิดีน พ้นจากอำนาจในปี 2554 ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลด้วย
          เมื่อปีที่แล้วคณะกรรมการโนเบลมอบรางวัลให้กับ องค์การเพื่อการห้ามใช้อาวุธเคมี หรือ โอพีซีดับเบิลยู ที่มีบทบาทสำคัญในการกำจัดอาวุธ รวมถึงการดำเนินการกำจัดอาวุุธเคมีในซีเรียในขณะนี้
          พิธีมอบรางวัลจะจัดที่กรุงออสโลของนอร์เวย ในวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งตรงกับวันเสียชีวิตของ นายอัลเฟรด โนเบล วิศวกรชาวสวีเดน ผู้คิดค้นระเบิดไดนาไมต์ และผู้ก่อตั้งรางวัลโนเบลเพื่อมอบให้กับบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้กับมนุษยชาติในสาขาต่างๆ