- 1. ความเปลี่ยนแปลงในช่วงรอยต่อระหว่างฤดู
อาการเครียดในช่วงรอยต่อระหว่างฤดูอาจพบเห็นได้ไม่มากนักในประเทศไทย ซึ่งเวลาในแต่ละฤดูไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่ในประเทศแถบยุโรป ที่มีความแตกต่างระหว่างฤดูอย่างชัดเจน ช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านจากฤดูกาลหนึ่งสู่ฤดูกาลใหม่ สามารถทำให้เกิดความเครียดได้ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวตัวเข้าสู่เวลาของฤดูกาลใหม่ได้ทัน อย่างในฤดูหนาวที่กลางคืนยาวขึ้น และกลางวันหดสั้นลง แทนที่ร่างกายจะตื่นมาอย่างสดชื่นพร้อมกับอาทิตย์รุ่งอรุณ กลับต้องตื่นขึ้นมาเจอกับความมืดสลัวที่ไม่คุ้นเคยอย่างที่ผ่านมา ซึ่งในสภาพเช่นนี้จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและเครียดได้
2. การสูบบุหรี่
สารนิโคตินในบุหรี่ ออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของสารเคมีในสมองอย่าง โดปามีน และ เซโรโทนิน ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท และยังมีหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการทำงานของยารักษาอาการซึมเศร้า (antidepressant drugs) ด้วย เมื่อสารทั้งสองตัวนี้ถูกรบกวน จึงทำให้เกิดอาการหงุดหงิด ไปจนถึงซึมเศร้าซึ่งนี่เป็นคำอธิบายด้วยว่า ทำไมผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงถอนยา หรือหย่าบุหรี่ จึงมีอาการเครียด เพราะฉะนั้นเพื่อรักษาสมดุุลของสารเคมีในสมอง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ตั้งแต่ต้นจะดีที่สุด
3. โรคไทรอยด์
ฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งผลิตจากต่อมไทรอยด์มีหน้าที่หลายหลาก ทั้งทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท และรักษาระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนินให้อยู่ในภาวะปกติ ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ที่ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ตามปกติ จะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า "ไฮโปไทโรดิซึ่ม" (hypothyroidism) เมื่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดเพี้ยนไปจากเดิม จึงไม่สามารถทำตัวเป็นสารสื่อประสาทได้อย่างเคย รวมถึงทำให้สารเซโรโทนินเสียสมดุลไปด้วย ก่อให้เกิดอาการเครียดได้นั่นเอง
4. นอนน้อย
การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ นอกจากจะทำให้รู้สึกหงุดหงิดได้ง่ายแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเครียดด้วย มีผลการทดลองหนึ่งจากปี 2007 พบว่า เมื่อให้คนสุขภาพดีแต่นอนน้อย มาดูภาพที่ชวนหดหู่ สมองของคนกลุ่มนี้จะทำงานหนักกว่า คนสุขภาพดีที่พักผ่อนอย่างเต็มที่ แล้วถูกทดสอบด้วยประการเดียวกัน ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มนอนน้อย เป็นอาการเดียวกับที่ปรากฏในผู้ป่วยที่เป็นโรคเครียด เพราะเมื่อนอนหลับไม่เพียงพอ สมองจึงไม่ได้รับการซ่อมแซมฟื้นฟู ทำให้การทำงานของสมองบางส่วนบกพร่องไป อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ความรู้สึกเครียดนั่นเอง
5. ติดเฟซบุ๊ก
สิ่งนี้ดูจะเป็นอาการทั่วไปของคนในยุคปัจจุบันเสียแล้ว นอกจากเฟซบุ๊ก ยังหมายรวมถึงโปรแกรมแชทต่าง ๆ รวมทั้งโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่น ๆ ด้วย ซึ่งการใช้เวลามากเกินไปบนโลกออนไลน์นี้ ทำให้เกิดอาการเครียดตามมาได้ มีผลการศึกษาในปี 2010 กล่าวว่า ร้อยละ 1.2 ของคนอายุระหว่าง 16-51 ปี ในอเมริกา ใช้เวลากับโลกอินเทอร์เน็ตมากเกินไป และมีแนวโน้มว่าจะเกิดอาการเครียดได้ง่าย ตั้งแต่ระดับปานกลางจนถึงรุนแรง แต่อย่างไรก็ตามผลการวิจัยนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า การผูกติดกับโลกอินเทอร์เน็ตมากเกินไปทำให้เกิดอาการเครียด หรือ คนที่มีอาการเครียดง่ายเป็นทุนเดิม มักมีแนวโน้มยึดติดกับโลกออนไลน์มากกว่าคนทั่วไปกันแน่
6. โปรแกรมโปรดฉายจบ
เมื่อสิ่งที่ชื่นชอบและรอคอย เดินทางมาถึงตอนจบ ก็ทำให้อดใจหายไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นละคร ซีรี่ย์ หรือ ภาพยนตร์ที่ชื่นชอบ และการจบลงของโปรแกรมเหล่านี้ ยังให้เกิดอาการเครียดขึ้นได้ เพราะผู้ชมมักนำตัวเองไปผูกติดกับเรื่องราวที่ดำเนินไป แต่โลกความจริงนั้นไม่เหมือนกับในละคร ทำให้เกิดความผิดหวัง ซึมเศร้า และ เครียด ตามมาได้
7. แหล่งที่พักอาศัย
ประเด็นเรื่องการเลือกทำเลตั้งถิ่นฐานยังหยิบขึ้นมาถกกันได้บ่อย ๆ เพื่อหาข้อสรุปว่า การมีบ้านอยู่ในเมืองกับนอกเมืองนั้นแบบไหนดีกว่ากัน อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาหนึ่งในปี 2011 จากวารสาร Nature บอกว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่มีความเสี่ยงที่จะประสบอาการเครียด มากกว่าคนที่อาศัยอยู่นอกเมืองถึงร้อยละ 39เนื่องจากคนเมืองมีกิจกรรมให้ทำเยอะกว่า ซึ่งหมายถึงสมองต้องทำงานหนักกว่า และ มีโอกาสพบเรื่องที่ต้องให้เครียดจากกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นเยอะกว่านั่นเอง
8. ตัวเลือกการบริโภคที่หลากหลาย
สินค้าประเภทเดียวกันที่มีอยู่มากมายหลายยี่ห้อในตลาด เป็นปัจจัยแฝงอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดขึ้นกับผู้บริโภคได้ ผู้บริโภคที่สามารถเลือกสินค้าที่ตรงกับความต้องการได้โดยไม่มีความลังเล จะรอดพ้นจากความเครียดนี้ ส่วนรายที่ชอบทดสอบ เลือกเฟ้น ค้นหาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี และคุ้มค่ามากที่สุด จะกลายเป็นเหยื่อความเครียดโดยไม่รู้ตัว
9. ไม่ทานปลา
ผลการศึกษาหนึ่งจากประเทศฟินแลนด์ ในปี 2004 พบว่าการขาดกรดไขมันโอเมก้า 3 อันพบมากในปลาแซลมอนและน้ำมันพืช ทำให้ผู้หญิงมีแนวโน้มเกิดอาการเครียดได้ง่าย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้กลับไม่ส่งผลกระทบใดกับผู้ชาย คำอธิบายที่พอเชื่อถือได้กล่าวว่า เพราะกรดไขมันดังกล่าว ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยในการรักษาระดับสมดุลของสารสื่อประสาทเซโรโทนิน ซึ่งหากสารนี้อยู่ในภาวะไม่เหมาะสมก็จะทำให้เกิดอาการเครียดได้
10. เติบโตอย่างโดดเดี่ยวห่างไกลลูกพี่ลูกน้อง
แม้การมีครอบครัวขยาย หรือการอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น หรือความขัดแย้งและความเครียดได้ง่ายกว่าการอยู่แบบครัวเดี่ยว การอยู่แบบสบายตัว ไม่มีความสัมพันธ์ผูกพันให้ยุ่งยากจึงน่าจะฟังดูดีกว่า แต่ความจริงแล้วการเติบโตอย่างโดดเดี่ยวไร้การปฏิสัมพันธ์กับญาติ ๆ หรือลูกพี่ลูกน้องในรุ่นราวคราวเดียวกัน กลับทำให้เด็กรายนั้นมีโอกาสเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบภาวะเครียดง่ายได้ในภายหลัง ซึ่งสาเหตุเบื้องหลังเกิดจาก การขาดทักษะการสื่อสารและการเข้าสังคม แต่อย่างไรก็ดี การเติบโตขึ้นมาท่ามกลางการทะเลาะวิวาทระหว่างพี่น้อง ก็ทำให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน
11. ยาคุมกำเนิด
ฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนแบบสังเคราะห์ที่มีอยู่ในยาเม็ดคุมกำเนิด ก่อให้เกิดผลข้างเคียงในผู้หญิงบางรายได้ โดยจะทำให้มีอาการเครียด ไปจนถึงซึมเศร้า ยิ่งในรายที่มีประวัติเครียดง่ายอยู่แล้ว ก็จะปรากฏอาการนี้ได้ง่ายขึ้นในขณะที่พวกเธอใช้ยาคุมกำเนิดด้วย
12. ยาชนิดอื่น ๆ
อาการเครียดและภาวะซึมเศร้าอาจมาจากผลข้างเคียงของการใช้ยาบางประเภท เช่น แอคคิวเทน หรือยาในตระกูลไอโซเตรติโนอิน (isotretinoin) ซึ่งเป็นที่รู้จักจากสรรพคุณช่วยรักษาสิว, ยากล่อมประสาท รักษาอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ อย่าง วาเลียม (Valium), ซาแน็ก (Xanax) หรือแม้แต่ยาที่จ่ายให้กับหญิงวัยทอง อย่าง พรีมาริน(Premarin) ก็ทำให้เกิดอาการเครียด ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยานั่นเอง
สาเหตุของอาการเครียดอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิดมาก เพราะฉะนั้น อย่าลืมที่จะอยู่อย่างรู้เท่าทันปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการเครียด และเอาใจใส่ภาวะจิตใจให้แข็งแรงอยู่เสมอนะคะ