อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญของการดำรงชีวิต แต่หากรับประทานอย่างขาดการระมัดระวังหรือรู้เท่าไม่ถึงการ ก็อาจเจอกับอาการของโรคอาหารเป็นพิษได้ โดยโรคอาหารเป็นพิษนี้ เกิดได้ในทุกฤดู กับอาหารและน้ำดื่มทุกประเภทที่มนุษย์รับประทานเข้าไป
สาเหตุของอาหารเป็นพิษพูดง่ายๆ ก็คือการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัส ตลอดจนการปนเปื้อนสารพิษทั้งพิษในทางธรรมชาติที่พบบ่อย เช่น เห็ดพิษ หรือสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหารทะเล ตลอดจนสารเคมีต่างๆ เช่น สารหนู และสารโลหะหนักอื่นๆ เป็นต้น โดยความรุนแรงของอาการที่พบเมื่อป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษนี้แบ่งออกได้เป็นสองระดับง่ายๆ คือ
ระดับที่ไม่รุนแรง เป็นกลไกที่ก่ออาการท้องเสีย เรียกว่า Noninflammatory type ซึ่งเชื้อจะก่ออาการเฉพาะกับเยื่อเมือกบุลำไส้เล็กเท่านั้น ไม่เข้าสู่ร่างกาย อาการที่พบส่วนใหญ่มักจะท้องเสียถ่ายเป็นน้ำ มีอาการปวดท้องแต่ไม่มาก ผู้ป่วยต้องระวังไม่ไปรับสารพิษเพิ่ม และดื่มน้ำบ่อยๆ เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำเยอะ
ส่วนอีกระดับหนึ่งจะรุนแรง เรียกว่า Inflammatory type อันเป็นกลไกหนึ่งที่มีอาการปวดท้องมาก ร่วมกับการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย อาจมีอาการรุนแรงเนื่องจากมีเชื้อโรคเข้าไปทำลายประสาท ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต และเสียชีวิตได้ในที่สุด
ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคอาการเป็นพิษ ทุกคนจะต้องใส่ใจสุขภาวะของอาหาร และน้ำดื่ม ตลอดจนรักษาความสะอาดอื่นๆ ทั้งล้างมือให้สะอาด รักษาความสะอาดของภาชนะจาน ชาม เป็นต้น ทั้งนี้ควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุก สะอาด วัตถุดิบที่เป็นของสดจะต้องสดใหม่ และหากไม่แน่ใจว่าเสียหรือมีเชื้อราขึ้นหรือไม่ ให้รีบทิ้งไปทันที อย่านำกลับมารับประทานโดยเด็ดขาด เพราะหากเจอเชื้อโรคที่รุนแรง อาจทำให้อาหารเป็นพิษ เป็นโรคที่น่ากลัวกว่าที่คุณคิดก็เป็นได้